
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก’ (Eastern Economic Corridor : EEC) คือ การเป็นจุดศูนย์กลางในระดับโลก โดยเฉพาะด้านการลงทุน เป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ 5 โรง อุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี 3 แห่งโรงผลิตไฟฟ้า 20 โรง และนิคมอุตสาหกรรม 29 แห่ง ทั้งยังเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่มีความสะดวกสบาย ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กม. ที่เชื่อมผ่านเส้นทางสายหลัก ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบังสนามบินอู่ตะเภา และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
ศักยภาพสำคัญของพื้นที่ EEC คือ การเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งภูมิภาคอาเซียน เป็นประตูสู่เอเชีย สามารถเข้าถึงประชากรโลกได้กว่าครึ่งหนึ่งโดย EEC จะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนทั้งในเชิงงบประมาณ และขนาดพื้นที่ GDP ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาเซียน และอินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 1/3 ของ GDP โลก โดยในอนาคต EEC จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และระเบียงตะวันออก-ตะวันตก ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของความเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย